ทำไมลูกเพื่อนแม่เก่งถึงทุกอย่าง? การเปรียบเทียบส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่าที่คิด


ทำไมลูกของเพื่อนแม่เก่งทุกอย่างเลย? หนึ่งในคำถามนี้ถูกถามขึ้นมาใน Session หนึ่งของการทำบำบัด ถ้าเรามองผิวเผินจากคำถามนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นการตั้งคำถามทั่วไป แต่แท้จริงแล้วคำถามนี้แฝงความหมายอื่นเอาไว้ มันแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง และการมีความภูมิใจในตนเองต่ำ รู้สึกด้อยค่า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่เขามักถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลาจนเกิดเป็นปมในใจ

การที่พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น อาจมาจากประสบการณ์หรือเกิดจากความคิดของคุณพ่อคุณแม่ที่มีความหวังดีที่อยากให้ลูกก้าวหน้าพัฒนา มีแรงฮึดสู้กับอุปสรรค เพื่อให้ลูกปรับเปลี่ยนตนเองมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเผลอเอาความคาดหวังของตนเองหลังจากการเห็นสิ่งที่คนอื่นทำได้ดีมาเปรียบเทียบกับลูก ซึ่งคำพูดเหล่านี้ หากมาจากคนใกล้ชิดและรักที่สุดอย่าง “พ่อแม่” ก็มักส่งผลต่อจิตใจ บั่นทอนจิตใจ และอาจสร้างแผลในใจให้เด็กได้มากกว่ามาจากคนอื่น

ผลกระทบกับเด็กที่ถูกเปรียบเทียบ

ขาดความภูมิใจในตนเอง
เด็กจะรู้สึกไม่ดีกับตนเอง ไม่พอใจในตนเอง มองไม่เห็นคุณค่า หรือเห็นคุณค่าในตนเองน้อยลง (Low self-esteem) เพราะเขาจะเปรียบเทียบสิ่งที่ตัวเองมีกับคนอื่นอยู่ตลอด ไม่ภูมิใจในการเป็นตัวเอง จนหาความสุขหรือความพอใจในชีวิตได้ยาก

รู้สึกกดดัน แข่งขันอยู่ตลอด
เด็กเกิดความกังวลกับความสามารถของตนเอง มีความกดดันสูง เหมือนมีภาระและความหวังที่ต้องแบกไว้ จึงพยายามแข่งขันต่อสู้อยู่ตลอด เช่น ต้องได้ลำดับที่หนึ่ง ต้องเด่นเหนือคนอื่น เพราะเขาคิดว่าต้องเป็นแบบนั้นถึงจะได้รับการยอมรับ เหมือนมีข้อแม้ในชีวิตที่จะมีความสุขได้ จนเกิดความเครียดสะสม และมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างอื่นตามมา

หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
เด็กจะไม่อยากออกไปไหน หรือไม่อยากใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคมที่ทำให้ตัวเขารู้สึกอาย กลัวการถูกตัดสิน เยาะเย้ย เนื่องจากถูกเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ ทำให้ไม่อยากพูดคุยกับใคร เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม

มีพฤติกรรมต่อต้านก้าวร้าว
เมื่อเด็กมีความพยายามที่จะแสดงออก หรือพยายามทำสิ่งต่างๆมากขึ้น เพื่อให้ได้รับการยอมรับแต่กลับยังคงถูกเปรียบเทียบอยู่เรื่อยๆ เด็กจะเกิดเป็นความโกรธ จนบางครั้งควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ต้องตอบโต้แรงๆกลับไป หรือหากยังไม่เป็นผลเด็กอาจมีพฤติกรรมต่อต้านโดยทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพื่อปฏิเสธความรู้สึกเจ็บปวดข้างในใจ

หากพ่อแม่ท่านใดที่ได้ทำหรือเคยทำสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว จนได้รับรู้ถึงผลเสียที่ตามมาจากการที่พูดเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ลองหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ ปรับเปลี่ยนวิธีหันมาใช้คำชมหรือให้กำลังใจลูก ก็จะสามารถที่จะช่วยเยียวยาแผลในจิตใจ ลดการสร้างบาดแผลในใจเพิ่ม และสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นให้กับลูกได้นะคะ



Credit : คุณจิราพัชร นิลแย้ม นักจิตวิทยาคลินิก

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS