ความผูกพันทางอารมณ์ เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรใส่ใจ


สำหรับพ่อแม่แล้วการเลี้ยงลูกคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับ ผู้อื่นในสังคมได้ มีทักษะพัฒนาการด้านต่างๆให้เป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสมล้วนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งแต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นตัวแปรที่จะทำให้ลูกเชื่อฟัง เกิดความไว้วางใจพ่อแม่และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ในอนาคต นั่นก็คือ ความผูกพันทางอารมณ์

ความผูกพันทางอารมณ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พันธะทางอารมณ์ (Emotional Bonding) คือความผูกพันระหว่างพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหลักกับเด็กที่สร้างขึ้นตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการเกาะติด ร้องไห้ แสดงความต้องการให้ผู้เลี้ยงดูรับรู้ ซึ่งไม่ได้เกิดกับทุกคน หากเด็กที่มีพ่อหรือแม่ หรือผู้เลี้ยงดูที่ดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก ทะนุถนอม ปลอบประโลม ไวต่อสัญญาณที่เด็กส่งผ่านให้รับรู้ และตอบสนองได้ตามความต้องการของเด็กคนนั้น เด็กจะรู้สึกวางใจ มั่นคง ปลอดภัย จนเกิดเป็นความผูกพันทางอารมณ์ขึ้นมา

ตามทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ของ John Bowlby พบว่า สายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ที่เลี้ยงดู มีผลต่อตัวเด็กในอนาคต กล่าวคือ รูปแบบความผูกพันระหว่างพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูกับเด็กเป็นอย่างไรในวัยเด็ก ก็จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเด็กกับคนอื่นๆ หรือการแสดงออกของเด็กเมื่อเขาโตขึ้นด้วย ซึ่งต่อมาก็มีการศึกษา ของMary Ainsworth ที่ศึกษาเกี่ยวกับ “ทารกกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย” ได้อธิบายถึงความผูกพันในรูปแบบต่างๆเพิ่มเติมโดยอิงจากทฤษฎีของ Bowlby โดยรูปแบบของความผูกพันนั้น จะขึ้นกับการเลี้ยงดูที่เด็กได้รับจากพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูหลักนั่นเอง

ลักษณะของความผูกพันแบ่งออกเป็น 4 แบบด้วยกัน

  1. ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure) ความผูกพันในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูทำให้เด็กรับรู้ได้ถึงการเอาใจใส่ และตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจและถูกจังหวะ โดยต้องเกิดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  2. ความผูกพันแบบห่างเหิน (Avoidant) ความผูกพันในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบทิ้งขว้าง จะมีพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูอยู่ หรือไม่อยู่ก็ไม่ต่างกัน เพราะมักจะถูกเมินเฉยใจ ไม่ได้รับการตอบสนองตามความต้องการ
  3. ความผูกพันแบบไม่แน่นอน (Disorganize) ความผูกพันในลักษณะนี้เกิดจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก เลี้ยงเด็กโดยใช้อารมณ์ที่รุนแรง ทำให้รู้สึกกลัวด้วยการขู่ หรือแสดงออกอย่างเกรี้ยวกราดกับเด็กเมื่อเด็กแสดงความต้องการ
  4. ความผูกพันแบบไม่มั่นคง ครึ่งๆกลางๆ (Ambivalent) ความผูกพันในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวพ่อแม่ก็สนใจเดี๋ยวพ่อแม่ก็ปล่อยปละละเลย เมื่อเกิดความต้องการก็ได้รับการตอบสนองที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการ ทำให้เด็กไม่มั่นใจ

ในการศึกษาถึงผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวกับเด็กที่ได้รับความผูกพันทางอารมณ์ต่างกัน ยังพบอีกว่า
เด็กที่มีความผูกพันแบบมั่นคงจะสามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมต่อไปได้ ทำให้เด็กเกิดการพัฒนาตนเองในอนาคต มีความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-esteem) คิดริเริ่มสร้างสรรค์(Initiative) และมีความเป็นตัวของตัวเอง (Independent) มีความเป็นผู้นำพึ่งพาตนเองได้ ผูกพันกับคนอื่นได้ สามารถเชื่อใจและวางใจคนอื่นได้
เด็กที่มีความผูกพันแบบห่างเหินจะไม่ค่อยอยากสร้างหรือผูกมิตรกับคนอื่น มักมีระยะห่างกับคนอื่น มีความเชื่อมั่นและพึ่งพาตนเองมากกว่า ไม่ค่อยเชื่อใจใคร เมื่ออยู่ใกล้หรือเริ่มวางใจก็มักจะถอยออกจากความสัมพันธ์ที่รู้สึกใกล้ชิด
เด็กที่มีความผูกพันแบบไม่แน่นอน มักจะเข้ากับคนอื่นได้ยาก ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ไม่ดี มีความต้องการความรัก แต่ในขณะเดียวกันก็หวาดกลัวและพยายามหนีออกจากความสัมพันธ์กับคนอื่น
เด็กที่มีความผูกพันแบบครึ่งๆกลางๆ มักจะมีความวิตกกังวลได้ง่าย ไม่กล้าตัดสินใจกลัวการถูกทอดทิ้ง รู้สึกไม่มั่นใจ และต้องการการยืนยันจากคนรอบตัวอยู่ตลอดจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

จะเห็นได้ว่าความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกที่มีตั้งแต่แรกเกิดส่งผลให้เด็กแต่ละคนเติบโตมามีลักษณะต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญและรู้จักเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์ให้กับลูกอย่างเหมาะสม จึงจะทำให้ลูกมีความมั่นใจในตนเอง มีความมั่นคงทางอารมณ์ และเติบโตไปในทิศทางที่ดีได้

วิธีเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์

รู้จักสังเกตเพื่อตอบสนองอย่างเหมาะสม
พ่อแม่ควรตอบสนองความต้องการของลูกอย่างทันท่วงที ถูกต้องกับความต้องการของลูก และสม่ำเสมอ ทำได้ด้วยการสังเกตท่าทางการแสดงออกของลูก ว่าเขาต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร

เล่นกับลูกเพื่อสื่อสารถึงความรักความเข้าใจ
พ่อแม่ควรให้เวลากับลูกในการเข้าไปเล่นกับลูก เพื่อเสริมสร้าง Quality time อาจเริ่มด้วยการกอด หอม สัมผัสที่อบอุ่นกับลูก สื่อสารด้วยภาษาท่าทางต่างๆ หรือพูดคุยโดยไม่บังคับ ให้อิสระในการเรียนรู้ที่จะเล่น หรือสำรวจสิ่งต่างๆ ให้ลูกรับรู้ได้ว่าพ่อแม่กำลังแสดงความรัก และมีความสุขในการอยู่กับเขา

ให้ความอบอุ่นทางใจ
พ่อแม่ควรมีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ขึ้นเสียง หรือดุลูกเสียงดัง เมื่อลูกร้องไห้ หรือกลัว พ่อแม่ควรเข้าไปปลอบด้วยความอ่อนโยน ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยไว้วางใจ และสงบลงได้

จัดระเบียบกิจวัตรประจำวัน
พ่อแม่ควรฝึกลูกให้ตื่นนอน เข้านอน รับประทานอาหาร และเล่นเป็นเวลา ไม่เข้มงวดจนเกินไป ไม่ใช้อารมณ์หรือบังคับ แต่เป็นการฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ความเป็นระเบียบ มีความมั่นคงในการแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม



Credit : คุณจิราพัชร นิลแย้ม นักจิตวิทยาคลินิก

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS