ฝนตก สภาพอากาศที่มีทั้งคนรักและคนชัง


เข้าสู่ฤดูฝนประจำปีแบบนี้ ก็อาจแบ่งคนได้เป็น 3 กลุ่ม

  1. กลุ่ม "แสนเซ็ง" ไม่ชอบฝน เพราะแปลว่าวันนี้จะต้องเจอสภาพการจราจรที่ติดขัดและความชื้นแฉะของอากาศ หรือบางคนอาจเป็นความรู้สึกซึมๆ ถ้าต้องเจอกับท้องฟ้าสีเทาหรือความกลัวที่แล่นขึ้นมาเพราะเสียงลมพัดที่รุนแรง
  2. กลุ่มแฟนคลับของสายฝนหรือ "Pluviophile" ผู้ที่ตกหลุมรักยามฝนตก ยินดีกับการนั่งมองฝนตกและไม่ปฏิเสธที่เอาตัวเองไปโดนสายฝนให้เปียกชุมเพราะมันให้ความรู้สึกเหมือนซักล้างความรู้สึกไม่สบายใจและกายได้ไหลลงไป
  3. กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง ไม่รู้จะจัดตัวเองอยู่ตรงไหน ไม่ชอบบรรยากาศเหงาๆปนน่ากลัวของอากาศก่อนฝนตกและไม่ชอบที่สุดเวลาที่ท้องฟ้าร้องคำราม แต่ถึงอย่างนั้นก็ชอบการนอนฟังเสียงฝนตก เสียงฝนทำให้ความกังวลในตอนแรกจางลงและความสงบที่หายไปเริ่มกลับมา

เชื่อว่ามาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มขยับตัวไปมาที่ข้อ 3 ไม่ได้ยินดีอะไรที่ฝนตกแต่ก็พอใจที่เสียงฝนโดยเฉพาะตอนกลางคืนทำให้การนอนหลับฝันดีมากขึ้น

ภายใต้เบื้องหลังสายฝนที่กำลังโปรยปราย "เสียงของฝน" จัดว่าเป็นเสียงรบกวน (noise) ประเภทหนึ่ง เป็นเสียงพื้นหลังที่มักลอยเข้าหูตั้งแต่ระดับเบาๆ เช่น เสียงฝน เสียงลมพัด ไปจนถึงระดับดังที่สะเทือนแก้วหู เช่น เสียงเครื่องบิน เสียงเครื่องจักรทำงาน นักวิทยาศาสตร์ได้แยกประเภทของเสียงรบกวนออกตามสเปรกตัมหรือสีของเสียง โดยพื้นฐานมี 3 สีเสียงด้วยกัน - สีขาว (white noise), เสียงสีชมพู (pink noise) และเสียงสีน้ำตาล ( brown noise)

เสียงของฝน จัดอยู่ในกลุ่ม ‘เสียงสีชมพู’ ตัวอย่างเสียงในกลุ่มนี้มักเป็นเสียงในธรรมชาติ เช่น เสียงฝนตก เสียงลมพัดต้นไม้ หรือเสียงคลื่นทะเล ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงที่ไม่มีความสม่ำเสมอ เสียงที่มีความถี่สูงจะถูกลดความเข้มลงและเสียงที่มีความถี่ต่ำจะถูกขยายมาจนทำให้หูของมนุษย์ได้ยินเสียงที่มีมิติและความแบนมากขึ้น

หากย้อนไปในอดีตที่มนุษย์ยังต้องเอาตัวรอดในธรรมชาติ เสียงฝนถึงจะไม่สม่ำเสมอแต่มีความคงที่ที่สามารถคาดเดาได้ การไม่ต้องลุ้นว่าอะไรจะเกิดหลังจากนี้ช่วยลดภาระในการทำงานของสมอง ลดความเครียดจากการตื่นตัวของระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) - ที่มักจะทำงานในยามฉุกเฉิน สมองต้องเลือกระหว่างหนีหรือต่อสู้เพื่อรักษาชีวิต - เมื่อเกิดความรู้สึกปลอดภัย ร่างกายและสมองไม่จำเป็นต้องระวังตัวอีกต่อไป ก็เกิดความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย นำไปสู่อาการง่วงหงาวหาวนอนได้ง่ายกว่าปกติ ในงานวิจัยของ Northwestren University ก็พบว่าเสียงสีชมพูช่วยลดความซับซ้อนของคลื่นสมองที่มีผลการนอนหลับและกระตุ้นการนอนหลับให้คงที่ ลึกและยาวนานมากขึ้น ช่วยทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้ลึกขึ้นและเพิ่มให้ความสามารถในการจัดการข้อมูลขณะนอนหลับทำงานได้ดีขึ้นด้วย

นอกจากเรื่องอาการง่วงที่ตามมา บางคนกลับรู้สึกว่าเสียงฝนช่วยให้โฟกัสกับงานข้างหน้าได้ง่ายขึ้น เพราะเสียงฝนจัดอยู่ในกลุ่มเสียงสีชมพูที่มีหลายงานศึกษาพบว่าเสียงรบกวนจากภายนอก (ในระดับเสียงที่ไม่ได้ดังจนเกินไป) รบกวนการทำงานของระบบประสาทที่ทำให้ไวต่อการรับรู้สิ่งอื่น ๆ ที่กำลังโฟกัสได้เร็วขึ้น เช่น ในงานวิจัยปี 2020 ของประเทศไต้หวันพบว่าเสียงรบกวนสีต่างๆ มีผลการทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานในที่เงียบสงบ โดยเฉพาะเสียงสีชมพูและเสียงสีแดงที่ช่วยให้เพิ่มความสามารถในการทำงานและตัดสินใจ

ถึงฤดูฝนไม่ใช่ฤดูโปรดของทุกคน แต่ลองสังเกตในแพลตฟอร์มฟังเพลงต่างๆ จะเห็นว่าเพลงหรือคลิปที่เป็นเสียงฝน ยอดวิวไม่ใช่เล่นๆเลย เราอาจจะไม่สามารถหนีความจริงที่ว่าฝนตกทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้นมานิดนึง แต่ภายใต้ฝนที่ตกกระหน่ำก็ทำให้สมองของเราได้ผ่อนคลายสักแปบ อยากชวนให้ลอง ตอนที่ฝนกำลังตกและเราอยู่สภาพแวดล้อมที่สบายๆ (หรือบางคนอยากลองตากฝนก็ไม่ว่ากันนะคะ) ลองฟังเสียงฝนที่ตกกระทบหลังคา สังเกตเม็ดฝนที่ไหลลงมา ให้เสียงของฝนได้จัดการความซับซ้อนคลื่นสมองของเราที่ทำงานหนักให้เบาลง อาจเจอความสงบที่ไม่ได้สัมผัสมานาน คล้ายๆกับสำนวนที่ว่าฟ้าหลังฝนมักสวยงามเสมอก็เป็นได้นะคะ



Credit : คุณสุทธิดา ลิ้มพิทักษ์ชัย นักจิตวิทยาคลินิก

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS