พ่อแม่จะส่งเสริมลูกอย่างไรให้ช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย


การที่เด็กจะช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัยนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ เด็กแต่ละวัยจะมีพัฒนาการและความสนใจแตกต่างกันทั้งด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์สังคม และด้านภาษา ซึ่งพัฒนาการของลูกในช่วง6ปีแรกนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจ และหมั่นสังเกตลูกอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กเติบโตอย่างสมวัย หรือหากมีปัญหาก็จะได้รีบแก้ไขโดยเร็ว เมื่อพ่อแม่เข้าใจและสามารถช่วยส่งเสริมให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย ลูกก็จะได้มีทักษะ รู้จักเรียนรู้แก้ปัญหา สามารถเอาตัวรอด และปรับตัวต่อไปได้ในอนาคต

พัฒนาการของเด็กแต่ละวัยที่พ่อแม่ควรรู้และส่งเสริม

  • พัฒนาการของเด็กวัย 1-2 ปี

    เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง เด็กจะชอบเลียนแบบการทํากิจกรรมง่ายๆ รู้จักปฏิเสธ รู้จักรับและให้ของ รู้สึกดีใจเมื่อได้รับความสนใจ เด็กสามารถทำตามคำบอกง่ายๆได้ เริ่มชี้อวัยวะ พูดคำที่มีความหมาย ใช้นิ้วมือได้คล่องมากขึ้น โดยใช้ช้อนตักอาหารเข้าปากตัวเอง หรือหยิบของใส่ถ้วยได้ เริ่มเดินได้เอง และเกาะจูงมือขึ้นบันได เตะบอล วิ่งได้ แต่เมื่อครบ2ปี เด็กจะเริ่มแสดงอารมณ์ต่างๆ เริ่มพูดสองคำต่อกันที่มีความหมายได้มากขึ้นโดย สามารถโต้ตอบที่พอเข้าใจได้ เปิดหนังสือทีละหน้าได้เอง สามารถขีดเขียนเป็นเส้นยุ่งๆได้

    วิธีการช่วยส่งเสริมลูก

    พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างให้ลูกได้เลียนแบบกิจกรรมง่ายๆ เช่น หวีผม ฝึกให้ลูกรู้จักหยิบของให้ ให้ลูกจับช้อน หรือช่วยจับมือลูกตักอาหารเข้าปาก สอนให้รู้จักส่วนต่างๆของร่างกาย ร้องเพลง ทำท่าประกอบ พูดชื่อสิ่งของในบ้าน ฝึกใช้ดินสอสี ขีดเขียน หมั่นพูดคุยให้ลูกโต้ตอบรู้อารมณ์ ความต้องการของตัวเอง ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการทำกิจวัตรประจำวันของตัวเอง เช่น ล้างมือ ถอดเสื้อผ้า ให้เวลาเล่นกับลูก เอาใจใส่ ถามความต้องการ หากไม่ต้องการให้ปฏิเสธโดยการส่ายหน้า หรือพูดว่าไม่ บอกถึงสิ่งควรทำและไม่ควรทำกับลูก พ่อแม่ควรให้คำชมเมื่อลูกมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ

  • พัฒนาการของเด็กวัย 3-4 ปี

    เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ชอบท้าทาย ชอบลอง ชอบเล่นสิ่งแปลกใหม่ เป็นวัยที่ภาษามีการพัฒนาอย่างมาก และเป็นวัยแห่งการเรียนรู้สัมพันธภาพกับคนอื่น เด็กจะชอบเล่นสมมติ อยากมีอิสระลองทำด้วยตนเอง ต่อต้านเมื่อถูกบังคับ พูดคุยโต้ตอบเป็นประโยคสั้นๆ ชอบตั้งคำถาม รู้จักซักถาม อะไร ทำไม บอกชื่อตัวเองและพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ มีความเข้าใจในเรื่องขนาดเล็กใหญ่ ความสั้นยาว รู้จักเพศของตัวเองและคนอื่น สามารถทำงานบ้านง่ายๆ ถอดและใส่เสื้อผ้าได้อาจมีที่ต้องช่วยบ้าง เด็กสามารถใช้กรรไกรตัดกระดาษ วาดรูปสี่เหลี่ยมได้ตามแบบ วาดวงกลมได้ เด็กจะชอบวิ่ง กระโดด ออกกำลัง เริ่มควบคุมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวและการทรงตัวได้ดีขึ้น

    วิธีการช่วยส่งเสริมลูก

    พ่อแม่ควรให้อิสระลูกในการลองทำสิ่งต่างๆ ให้ตัดสินใจด้วยตัวเองโดยพ่อแม่ดูแลความปลอดภัยและความเหมาะสม ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเอง เช่น กินข้าว อาบนํ้า แต่งตัว รู้จักบอกเมื่อต้องการขับถ่าย กำหนดกติกาในการเล่น สอนให้เล่นกับคนอื่นอย่างเหมาะสม รู้จักพูดคุยกับลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับฟังและตอบคําถามด้วยความสนใจ ฝึกให้ลูกขีดเขียน วาดอย่างอิสระ และจับดินสอวาด รวมถึงพูดคุยในสิ่งที่ลูกวาด เล่านิทานและร้องเพลงกับลูก ฝึกให้ลูกรู้จักสังเกตเอาสิ่งที่พบเห็นรอบตัวมาพูดคุยกัน

  • พัฒนาการเด็กในวัย 5-6 ปี

    เด็กในวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เริ่มเข้าใจและอธิบายเหตุผลง่ายๆได้ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง รู้จักแสดงความเคารพ ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อตกลง รู้จักกล่าวขอบคุณ ขอโทษ ชื่นชมผลงานของตัวเองและผู้อื่น แสดงอารมณ์ได้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รู้จักบอกสี บอกตัวอักษร จับดินสอได้ถูกต้อง เข้าใจซ้ายขวา บนล่าง หน้าหลัง ช่วยจัดโต๊ะอาหาร เทน้ำ วางจานช้อนบนโต๊ะ เป็นช่วงวัยที่กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่มีความแข็งแรง สามารถทำกิจกรรมออกกำลังกายได้หลากหลายมากขึ้น

    วิธีการช่วยส่งเสริมลูก

    พ่อแม่ทำได้ด้วยการฝึกทักษะทางสังคมให้ลูกสามารถเล่นกับเพื่อนได้ เช่น สอนให้ผลัดกันเล่น เคารพกติกา รู้แพ้รู้ชนะ สอนมารยาททางสังคมให้ลูก เวลาจะอธิบายสิ่งที่ทําได้และไม่ได้กับลูก พ่อแม่ควรใช้เหตุผลที่สั้นกระชับและเข้าใจง่าย นอกจากนี้พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกช่วยทํางานบ้านตามความสามารถของลูก ฝึกให้ลูกจับดินสอให้ถูกต้อง ฝึกนับจำนวนสิ่งของ บอกสี บอกตำแหน่งของสิ่งของรอบตัว ฝึกวาดรูปทรง ใช้นิทานช่วยสอนช่วยให้ลูกมีจินตนาการ เพลิดเพลินและส่งเสริมลักษณะนิสัยที่เหมาะสมโดยพูดคุยเรื่องตัวละครในนิทานกับลูก

พัฒนาการในวัยเด็กเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและความสามารถในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การใช้ภาษา การเข้าสังคม เป็นต้น หากเด็กได้รับการส่งเสริมให้ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเหมาะสม ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้เด็กมีทักษะในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น แต่ถ้าหากส่งเสริมแล้วเด็กยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน อาจแสดงถึงพัฒนาการที่ล่าช้าของเด็ก ซึ่งอาจจะมาจากปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ พ่อแม่ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมิน หาแนวทางในการบำบัดหรือกระตุ้นพัฒนาการ ก็จะสามารถช่วยให้เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการดีขึ้นได้



Credit : คุณจิราพัชร นิลแย้ม นักจิตวิทยาคลินิก

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS