Long COVID ทำให้สมองทำงานผิดปกติมีผลต่อความคิดและอารมณ์


ตลอด 2 ปีกว่าที่มีการอุบัติของเชื้อ COVID-19 ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตเพื่อลดโอกาสจากการติดเชื้อและให้มีการแพร่กระจายเชื้อน้อยที่สุด ยิ่งยุคสายพันธุ์โอไมครอนที่ติดเชื้อได้ง่ายมาก คนรอบตัวเราติดเชื้อกันไปเกือบหมด ตัวเราเองอาจเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อจนต้องมีการกักตัวกันไปหลายรอบหรือมีอาการที่ชวนให้นอยด์ว่าติดเชื้อแล้วหรือยัง คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมื่อร่างกายจะกำจัดเชื้อออกไปได้จนหมดทุกอย่างจะกลับเป็นปกติ แต่ข้อเท็จจริง คือ ผู้ป่วยบางส่วนที่แม้ตรวจไม่พบเชื้ออยู่ในร่างกายแล้วจะยังมีอาการจากร่างกายทำงานผิดปกติ เรียกภาวะนี้ว่า “post-acute COVID syndrome (PACS)/Long COVID” ซึ่งเกิดได้กับทุกระบบของร่างกาย


WHO ให้คำนิยามภาวะ Long COVID ว่าเป็นการเจ็บป่วยที่ตามมาหลังจากการติดเชื้อ COVID-19 ผู้ที่ติดเชื้อร้อยละ 10-20 จะมีกลุ่มอาการนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นภายใน 3 เดือนหลังจากที่ติดเชื้อไปแล้ว มีอาการอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป อาการอาจดีขึ้นหรือแย่ลงแล้วแต่ช่วงไป อาการที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลียง่าย (fatigue), หายใจเหนื่อย (dyspnea), ไม่ได้กลิ่น (anosmia), ปัญหาการนอน, เจ็บหน้าอก, ปวดศีรษะ, ไอเรื้อรัง และปัญหาสุขภาพจิต (mental health problems) เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า


ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยกลุ่มอาการ Long COVID จำนวนมากและหลายประเทศเห็นความสำคัญของการป่วย มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อวิจัยและให้การช่วยเหลือ เพราะ Long COVID ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง บางคนกลับไปทำงาน/ใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้อีก ซึ่งนอกจากตัวคนไข้จะได้รับผลเสียแล้ว คนรอบข้าง สังคมและเศรษฐกิจต่างได้รับผลด้วย


หนึ่งในอาการ Long COVID ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไข้อย่างมาก คือ อาการทางระบบประสาทและจิตเวช (Neuropsychiatric symptoms) เช่น ปัญหาด้านอารมณ์ (mood disorders), ปัญหาด้านความคิดความจำ (cognitive impairment), ปัญหาการนอน, ปัญหาพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ใครบอกได้ว่าอาการจะหายเมื่อไร บางคนอาจเป็นไปตลอดชีวิต


ตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจ

  • Mayo Clinics ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดอย่างน้อยร้อยละ 10-30 เกิดอาการ Long COVID ตามมา 1 ใน 3 ของคนไข้ไม่สามารถกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ปกติเหมือนเดิมได้ คนไข้มากกว่าครึ่งมีปัญหาด้านระบบประสาทและสมอง อาการที่พบบ่อย คือ สมองคิดอะไรไม่ออก (cognitive impairment/brain fog) สมาธิไม่ดี ความจำแย่ ไม่สามารถจดจำหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ประสิทธิภาพในการเรียน/การทำงานหรือวางแผนจัดการชีวิตแย่ลง โดยอาการ Long COVID ที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการที่เป็นในช่วงติดเชื้อ นั่นหมายถึงว่าแม้ช่วงที่ป่วยเป็นโควิดจะมีอาการเหมือนแค่เป็นหวัด แต่ภายหลังอาจป่วยเป็น Long COVID ที่มีอาการรุนแรงได้
  • การศึกษาของ the TriNetX electronic health records network พบว่าภายหลังจากที่ติดเชื้อโควิดไปแล้ว 6 เดือน มีคนไข้ร้อยละ 34 ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคทางระบบประสาท/โรคทางจิตเวช (neurological/psychiatric diagnosis) ซึ่งร้อยละ 13 ของคนกลุ่มนี้ได้รับการวินิจฉัยเป็นครั้งแรก (เดิมไม่เคยมีประวัติมาก่อน) คนไข้ที่ติดเชื้อ COVID-19 เมื่อเปรียบเทียบกับคนไข้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (influenza) ภายหลังจากที่อาการหายดีแล้ว มีอาการของกลุ่มโรคระบบประสาทและจิตเวชตามมามากกว่าอย่างชัดเจน


อาการ Long COVID เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรู้จักเพื่อให้สังเกตอาการของตัวเองหลังจากที่หายจากการติดเชื้อโควิดไปแล้ว เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นต้องรีบพบแพทย์ เพื่อที่จะได้รับการรักษาช่วยเหลืออย่างเหมาะสมยิ่งคนไข้ได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟูอาการ Long COVID เร็วเท่าไรผลการรักษาจะดีกว่าคนที่ได้รับการรักษาล่าช้า



Credit : แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS