ทำอย่างไร...ในวันที่แทบไม่มีหวัง


ความผิดหวังเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเคยเจอ แต่ละคนมีความสามารถในการรับมือและฟื้นตัว (resilience) ต่างกัน บางคนท้อแท้ เสียใจ ต้องใช้เวลานานกว่าจะยอมรับกับเรื่องที่เกิดขึ้น บางคนใช้ความผิดหวังมาพัฒนาตนเอง ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลาทำใจไม่นานราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เราควรใช้ชีวิตอย่างไรในวันที่มืดมน แทบไม่มีหวัง ให้มีพลังลุกขึ้นมาสู้ต่อ?

จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม ไม่มีความแน่นอน มีการระบาดไปทั่วโลก ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถควบคุมให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ได้ตลอด แม้จะคุมได้แต่สักระยะแต่เดี๋ยวจะมีระลอกใหม่เกิดขึ้นมา และมีเชื้อกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ต้องมีการพัฒนาวัคซีนและวิธีการป้องกันดูแลรักษากันตลอด

การระบาดของเชื้อโควิดในประเทศไทยครั้งนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ที่เสียชีวิตมากกว่าครั้งก่อนอย่างมาก ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างเนิบช้า บางคนยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว เศรษฐกิจแย่ ทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบ new normal เรียนออนไลน์ ทำงานจากที่บ้าน มีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ได้ทำในสิ่งที่เราเคยชอบ ความสุขค่อย ๆลดลงไป จนไม่มีความสุขอีกเลย หลายคนเคยฝากความหวังไว้กับภาครัฐว่าจะบริหารจัดการได้ แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ ทำให้หลายคนยิ่งเครียด หดหู่ ยอมแพ้ มองไม่เห็นทางออก ทนทุกข์กับความผิดหวังที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้น มีคนจำนวนมากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย หรือต้องเจ็บป่วยทางจิตใจ

เมื่อคนเราเจอกับเหตุการณ์หนึ่งแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ละคนกลับมีมุมมองและการตีความต่อเรื่องนั้นไม่เหมือนกัน บางคนผิดหวังเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้ บางคนเฉย ๆ บางคนสมหวังดีใจ

สมการของความผิดหวัง: สิ่งที่คาดหวังไว้ - สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

หากเป็นคนที่คาดหวังมาก ชอบความสมบูรณ์แบบ โอกาสที่จะผิดหวังย่อมมีมากตามไปด้วย เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตมีปัจจัยหลายอย่างเกินความสามารถที่เราจะไปจัดการ เช่น เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด ต่อให้เราอยากฉีดบางยี่ห้อแค่ไหน ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี แต่เราไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนได้เองตามที่เราต้องการ

เราได้เพียงแต่ทำใจและยังหวังอยู่ลึก ๆว่าอาจมีอะไรที่ดีขึ้น

วิธีการรับมือกับความผิดหวัง

- ยอมรับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ก่อน

เมื่อคนเราผิดหวังย่อมต้องรู้สึกโกรธ เสียใจ น้อยใจ หรือมีอารมณ์แย่ๆเป็นธรรมดา ดังนั้นการที่เรารู้สึกแบบนี้ไม่ใช่ความผิดของเรา เจ็บก็คือเจ็บ ต้องให้โอกาสและเวลากับตัวเองในการทำใจ

- การผิดหวังครั้งนี้เป็นแค่เรื่องในตอนนี้

การผิดหวัง 1 ครั้งไม่ได้แปลว่าในอนาคตเราจะต้องผิดหวังซ้ำๆ หากเราเปลี่ยนวิธีจัดการปัญหา ไม่ใช้วิธีเดิมที่ไม่ได้ผล

- เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากข้อผิดพลาด

เมื่ออนุญาตให้ตัวเองเสียใจเจ็บปวดจนถึงจุดหนึ่งที่สภาพจิตใจเราพร้อมแล้ว ให้ลองกลับมาคิดทบทวนว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องที่เกิดขึ้น เราจะเปลี่ยนวิธีการอย่างไรไม่ให้วนลูปเจ็บซ้ำแบบเดิม

- ความผิดหวังเป็นสิ่งที่แสดงว่าเรากำลังที่จะก้าวออกมาจากโซนปลอดภัยของตัวเอง

หากเราไม่ลองทำอะไรใหม่ๆ เลือกที่จะอยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง (comfort zone) เราจะเสียโอกาสในการได้ลองทำหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆที่แตกต่างจากเดิมความผิดหวังเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วจะทำอะไรได้สำเร็จในครั้งแรกหรือทำทุกสิ่งอย่างในได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยิ่งเราเจอกับความผิดหวังมากเท่าไร เราได้เรียนรู้จากมัน เราจะยิ่งเข้มแข็งและแกร่งเก่งมากขึ้น

- กลับมาทบทวนว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่เราคาดหวังคืออะไรกันแน่

เมื่อผิดหวังเราจะได้กลับมาทบทวนว่าสิ่งที่เราต้องการหรือกำลังพยายามทำอยู่ มันเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยนแผน แต่ถ้าใช่ให้ปรับวิธีการจัดการให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือปรับเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง

- พูดคุยเล่าระบายกับคนที่เราไว้ใจ

ความผิดหวังเป็นความเจ็บปวดที่ต้องการการระบายออก การที่มีใครสักคนรับฟังเรื่องราวของเรา จะช่วยบรรเทาลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้

- อนุญาตให้ตัวเองพักผ่อนเพื่อเยียวยา

ความผิดหวัง คือ การบาดเจ็บทางใจอย่างหนึ่ง ดังนั้นต้องให้เวลากับตัวเอง

- เรียกกำลังใจของตัวเองกลับคืนมา

เวลาที่เราผิดหวัง เรามักจะเสียความภาคภูมิใจในตัวเองไปด้วย (self esteem) ดังนั้นลองนึกถึงเรื่องดีๆที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จ หรือลองถามจากคนรอบข้างดู เพื่อให้เรารับรู้ว่าจริงๆเราก็มีความสามารถ เพียงแต่ความผิดหวังครั้งนี้อาจเกิดจากหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้ผลไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ อย่าเอาความผิดหวังแค่ครั้งเดียวมาตัดสินตัวเอง

เมื่อเรายอมรับได้ว่าผิดหวัง ให้เรากลับมาทบทวนตัวเองว่าข้อผิดพลาดอยู่ที่ไหน จะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด และเรามีความหวังกับเป้าหมายใหม่อย่างไรบ้าง

- ความหวังคืออะไร

เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หากเราได้ตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งลงไป โดยมีเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง ระหว่างทางกว่าที่จะเดินไปเป้าหมายย่อมมีอุปสรรคมากมาย ความหวังเป็นสิ่งที่ทำให้เราพยายามทำต่อไปและช่วยให้รับมือกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้

ความหวังไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้สึกดี แต่ยังเป็นวิธีคิดที่จูงใจให้เราพยายามต่อไปเรื่อยๆ (cognitive motivational system) เกิดการอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย ผิดพลาดได้ไม่เป็นไร ให้เรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำ เชื่อมั่นในศักยภาพความสามารถของตนเอง

คนที่มีความหวังมักจะมั่นใจในตัวเอง มองเห็นวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย


วิธีการสร้างความหวัง

- ดูแลชีวิตตัวเองให้ดีคงที่ก่อน

การที่จะไปต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆได้กายและใจต้องพร้อม

หนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้มีกายและใจพร้อม คือ การที่ทำสิ่งต่างๆเป็นกิจวัตร (self-care routine) รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เพื่อที่จะจัดการได้อย่างเหมาะสม หาสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข (ต้องไม่เป็นผลเสียกับตนเองและผู้อื่น)

- รู้เท่าทันความคิดลบแล้วคิดให้อยู่กับความเป็นจริง

ในสถานการณ์ที่แย่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะคิดลบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของเราที่คิดเพื่อหาทางหนีทีไล่ เตรียมใจรับมือกับเรื่องร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น

หากคิดในระดับที่ทำให้เอาชีวิตรอดได้ คิดโดยอิงข้อเท็จจริง ไม่เสียสุขภาพจิตถือว่ายอมรับได้ แต่ถ้าคิดลบมาก จนมองปัญหาไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่น กังวลอย่างมากจนสมองล้าคิดวิธีแก้ปัญหาไม่ออกหรือใช้วิธีที่ทำให้เรื่องแย่หนักกว่าเดิม แสดงว่าความคิดลบนี้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์

- ยอมรับว่าปัจจัยที่เราควบคุมได้ในชีวิตมีน้อยมาก

การที่เราจะมีความหวัง เราต้องรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมบางอย่างในชีวิตได้ แต่เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราคุมไม่ได้ในโลกนี้มีมากกว่าที่คุมได้

สิ่งดีที่สุดที่เราจะทำได้ คือ เราทำส่วนที่เราควบคุมได้ให้ดี เพื่อที่จะไม่เสียใจทีหลัง

หากทำเต็มที่แล้ว ผลออกมาเป็นอย่างไรต้องทำใจยอมรับ ช่วงแรกๆอาจรู้สึกผิดหวังทำใจไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา

- หาคนที่สามารถปลอบโยนให้กำลังใจเราได้

เวลาที่เรารู้สึกแย่ การที่มีคนรับฟังโดยไม่ตัดสิน (active listener) เป็นอีกตัวช่วยที่จะทำให้เราก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ และการติดต่อกับคนที่ดีต่อใจจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ได้รับพลังใจกลับมา

ตัวอย่างจากสถานการณ์โควิดในไทย แม้เราจะผิดหวังจากการจัดการของรัฐ แต่ยังมีประชาชน หน่วยงานเอกชนประเทศอื่นจำนวนมากที่หยิบยื่นให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา มีกลุ่มคนที่จะพยายามนำปัญหาขึ้นมาพูดเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และมีสิทธิแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไข เสียงเบา ๆของหนึ่งคนเมื่อได้รับการพูดต่อไปเรื่อย ๆ เสียงหลายเสียงจะดังกึกก้องจนเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นประกายแสงแห่งความหวัง ถึงแม้ปัญหาจะไม่ได้รับแก้ไขทั้งหมดแต่อย่างน้อยเราได้พยายาม

I alone cannot change the world, but I can cast a stone across the water to create many ripples. (ฉันไม่สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้เพียงลำพัง แต่ฉันสามารถโยนหินลงน้ำเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมจำนวนมากได้)

แม่ชีเทเรซา



Credit : แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS