อารมณ์รุนแรงก่อนวันแดงเดือด


เคยได้ยินคำที่มีคนเรียกกันว่า มนุษย์เมนไหมคะ อารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย น้อยใจ อ่อนไหว ร้องไห้บ่อย เป็นอาการที่พบได้บ่อยๆในผู้หญิงช่วงใกล้วันที่ประจำเดือนมา อาการเหล่านี้บางครั้งนอกจากจะสร้างปัญหาให้เราแล้วก็ยัง กระทบกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แฟน หรือกระทั่งเพื่อนร่วมงาน โดยอาการเป็นแค่บางช่วงของเดือน ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้สามารถบรรเทาและรักษาให้ดีขึ้นได้ วันนี้จะมาอธิบายให้เข้าใจกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงแบบเรา ๆ กันค่ะ

ภาวะข้างต้นมีชื่อเรียกว่า Premenstrual syndrome หรือเรียกสั้นๆว่า PMS

ซึ่งก็คือ กลุ่มอาการทางกาย พฤติกรรม และอารมณ์ที่สัมพันธ์กับช่วงก่อนมีประจําเดือน โดยอาการจะดีขึ้นและหมดไปภายหลังจากที่ประจําเดือนมา โดยอาการจะเป็นไม่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการงาน สังคม พบได้ถึง 75 เปอร์เซนต์

อาการที่พบบ่อยได้แก่ บวม เจ็บเต้านม ปวดศีรษะ น้ำหนักเพิ่ม นอนไม่หลับ รับประทานมากขึ้น สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ถึง 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และจะหายไปเมื่อประจำเดือนมาได้ 2-3 วัน

แต่ก็มีบางกรณีที่อาการที่เป็นนี้รุนแรง ส่งผลกระทบต่อ ความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน ซึ่งเราจะเรียกภาวะนี้ว่า Premenstrual dysphoric disorder หรือ PMDD กรณีนี้จะพบได้ประมาณ 3-8 เปอร์เซนต์ ในหญิงวัยเจริญพันธุ์

ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น จากพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีอาการดังต่อไปนี้

  • อารมณ์ขึ้นลงอย่างมาก หงุดหงิด เศร้า วิตกกังวลรุนแรงเบื่อหน่ายต่อกิจกรรมต่างๆ
  • สมาธิแย่ลง
  • อ่อนแรง
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • นอนหลับยากหรือนอนมากเกินไป
  • รู้สึกทนต่อเรื่องต่างๆได้ยาก

อาการดังกล่าวกระทบกับชีวิตประจำวันอย่างมาก เช่นทางสังคม การงานครอบครัว โดยอาการไม่ได้เป็นจากโรคทางกายหรือโรคจิตเวชอื่นๆ หรือจากสารเสพติด

วิธีการดูแลตนเอง

  1. ลดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ลดการกินช็อกโกแลต อาหารรสเค็มจัด
  2. เพิ่มการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
  3. เพิ่มการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงความเครียด

หากลองพยายามตามวิธีข้างต้นแล้ว ยังไม่สามารถลดการเผชิญกับปัญหาดังกล่าวได้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและดูแลอย่างถูกต้อง การดูแลมีทั้งการกินยาเพื่อปรับอารมณ์ และการปรับเปลี่ยน life style เพื่อบรรเทาให้อาการดีขึ้นค่ะ



Credit : พญ.วิลาวัลย์ กำจรปรีชา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS